ของดีเด่นประจำตลาดข่าวสาร และ ข่าวกิจกรรมตลาดสาระน่ารู้คลังภาพโรงเรียนการเรือน

วิธีทำน้ำพริกให้อร่อยฟิน ไม่ยากอย่างที่คิด !?!?

เครื่องปรุงต้องสดและใหม่ กะปิต้องเลือกกะปิอย่างดีที่ทำจากเคยเนื้อละเอียด ไม่เหม็น ไม่เค็ม เนื้อไม่หยาบ สีธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมีปรุงแต่ง กุ้งแห้งต้องใหม่ ไม่มีกลิ่นสาบ ไม่เค็ม ไม่ใส่สีโขลกแล้วเป็นปุย น้ำตาลใช้น้ำตาลปี๊บ ถ้าได้น้ำตาลเมืองเพชรรสชาติจะดีมาก สำหรับพริกขี้หนูต้องเป็นพริกขี้หนูสวนจริง ดูได้จากเม็ดจะไม่ใหญ่ มะนาวนั้นต้องเป็นมะนาวผิวเขียวเปลือกบางเรียกว่า มะนาวแป้น จึงจะมีน้ำมาก กลิ่นหอม ความฉลาดของคน โบราณจะให้น้ำพริกข้นอย่างมีรสชาติ ต้องใส่มะอึก มะอึกที่ใช้ต้องเลือกชนิดเปลือกบางจึงจะมีรส และทำให้น้ำพริกข้น ควรปรุงแต่งกลิ่นรสจะใส่ระกำ กลิ่นรสของระกำจะทำให้น้ำพริกกะปิอร่อยยิ่งขึ้น

สัดส่วนของเครื่องปรุงที่ใช้มีความสำคัญพอๆ กับการเลือก ถ้าเครื่องปรุงชนิดหนึ่ง ชนิดใดมากไปก็ทำให้น้ำพริกเสียรสและเสียกลิ่น เช่น ใส่พริกมากไปก็จะเผ็ดจัด หรือใส่กะปิมากไปก็จะเหม็นและบางทีจะขม ในการใส่เครื่องปรุงต้องมีการตวง เพื่อให้เครื่องปรุงแต่ละอย่างทำหน้าที่อย่างเหมาะสม เครื่องปรุงแต่ละอย่างต้องช่วยส่งเสริมกันและกัน เรียกว่าเมื่อรวมกันแล้วทำให้อร่อย อย่างเช่นกะปิจะมีกลิ่นเหม็นแบบกะปิ กระเทียมก็มีความเหม็นแบบกลิ่นกระเทียม เมื่อนำกะปิตำกับกระเทียม น้ำมันกระเทียมที่มีอยู่ในกระเทียม โดยธรรมชาติก็จะมาทำให้กลิ่นของกะปิลดลง และกลิ่นของกระเทียมก็ลดลง และกลิ่นของกระเทียมก็ลดลงเพราะน้ำมันกระเทียมได้ออกมากลบกลิ่นกะปิ จนเกิดกลิ่นรสน่ากิน

คนโบราณจะมีวิธีพลิกแพลงใช้เครื่องปรุงชูรส โดยใช้ผลไม้ตามฤดูกาลลงในน้ำพริก เช่น มะขามอ่อน ก็จะมีชื่อว่าน้ำพริกมะขามสด ถ้าใช้มะขามเปียกก็จะใช้ชื่อว่าน้ำพริกมะขามเปียก   ถ้าใช้มะม่วงก็จะมีชื่อว่าน้ำพริกมะม่วง มะดันก็จะมีชื่อว่าน้ำพริกมะดัน เป็นต้น

น้ำพริกเป็นอาหารจานเด่นในสำรับอาหารไทย เป็นอาหารจานที่ทำให้กินผักได้อร่อย และกินผักได้หลายรูปแบบ เช่น ใช้ผักสดๆ จิ้ม หรือผักลวก ผักนึ่ง ผักหลาม ผักทอด ผัดน้ำมัน ผัดฟาดไฟ เป็นต้น ผักที่ใช้จิ้มน้ำพริกจะให้อร่อยต้องเข้าใจว่านำผักนั้นมากินแบบไหน ดังที่กล่าวข้างต้น การหุงต้มผักก่อนนำมาจิ้มน้ำพริก เพื่อให้เคี้ยวง่าย เพื่อดับกลิ่นรสบางรสที่รุนแรง เพื่อเพิ่มความอร่อยยิ่งขึ้น

น้ำพริกแต่ละถ้วยมีเสน่ห์อยู่ในตัว เพราะการผสมผสานกันของเครื่องปรุงที่ใช้ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษของเราที่เข้าใจถึงการนำมาผสมกันอย่างมีเหตุมีผลจนเป็นเอกลักษณ์ของน้ำพริกแต่ละถ้วย เสน่ห์ของน้ำพริกอยู่ที่รสชาติที่รวมหลายรสที่อยู่ในถ้วยเดียวกันอย่างลงตัว จึงทำให้เกิดความอร่อย กินแล้วไม่เบื่อ เช่น น้ำพริกกะปิจะมีรสเผ็ดนำเล็กน้อย ภายใต้ความเผ็ดก็จะมีความเค็มของกะปิมาลดความเผ็ดของพริก และมีความเปรี้ยวของน้ำมะนาว มาทำให้รสเผ็ดกับรสเค็มเกิดการลงตัว ความหวานของน้ำตาลปี๊บจะช่วยลดความเปรี้ยวของมะนาวลงไป ทำให้เกิด

การลงตัว ความหอมของระกำและรสชาติของระกำ จะช่วยส่งเสริมให้น้ำพริกเกิดความอร่อยอย่างมีเสน่ห์และมะอึกที่ใช้นอกจากจะทำให้น้ำพริกข้นน่ากินแล้ว รสและเนื้อของมะอึกที่เป็นเอกลักษณ์คือหวานปนขื่นๆ ความหวานและความขื่นของมะอึกยิ่งเพิ่มเสน่ห์ให้น้ำพริกกะปิ น้ำพริกทุกภาคไม่ว่าน้ำพริกภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน เสน่ห์อยู่ที่รสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของน้ำพริกแต่ละถ้วย

เพิ่มเสน่ห์ของน้ำพริก สิ่งที่ใช้เพิ่มเสน่ห์ของน้ำพริกก็คือผักที่ใช้จิ้ม ผักที่ใช้จิ้มน้ำพริกมีความสำคัญที่จะทำให้น้ำพริกนั้นอร่อยยิ่งขึ้น ผักที่ใช้จิ้มน้ำพริกใช้ผักพื้นบ้านจะทำให้น้ำพริกมีรสชาติอร่อย เพราะผักแต่ละชนิดจะมีรสชาติและลักษณะกลิ่นเป็นของตัวเอง เช่น มะเขือพวง จะมีรสมันอมขมเล็กน้อย เมื่อจิ้มกับน้ำพริกกะปิจะให้ความอร่อยแตกต่างจากการใช้กระเจี๊ยบมอญจิ้ม หรือจิ้มด้วยถั่วพู ก็จะทำให้น้ำพริกถ้วยเดิมให้ความอร่อย และรสชาติต่างจากการจิ้มด้วยมะเขือพวง และกระเจี๊ยบมอญเป็นต้น

ความสำคัญของผัก ผักแต่ละชนิดเหมาะกับน้ำพริกแต่ละถ้วย ผักส่งเสริมให้น้ำพริกเกิดความอร่อยยิ่งขึ้น น้ำพริกของแต่ละภาคจะใช้ผักพื้นบ้านในภาคเป็นเครื่องจิ้ม เป็นผักที่หาได้ง่าย ขึ้นตามฤดูกาล หรือออกดอก ออกผลตามฤดูกาล เช่น ภาคใต้ส่วนใหญ่จะใช้ผักสด เช่น สะตอ   ลูกเนียง ลูกฉิ่ง ยอดหมุย มะเขือเปราะ ถั่วพู เช่นเดียวกันภาคอีสาน นิยมใช้ผักสดอย่างผักแว่น มะเขือเปราะ มะเขือพวง มะแว้ง ผักกาดนา ผักบุ้ง สะเดา เป็นต้น มีผักที่ต้มหรือเผาบ้าง เช่น หน่อไม้ สำหรับทางภาคเหนือ นิยมผักนึ่งมากกว่าผักสด เช่น หน่อไม้ ยอดแค ดอกแค มะเขือพวง ถั่วฝักยาว ฟักทอง ฝักเขียว ยอดฟักทอง ผักกูด ผักขี้หูด ดอกข่า ตำลึง กระเจี๊ยบ มะระขี้นก ยอดหวาย เป็นต้น สำหรับผักที่กินสด ยอดกระถิน ถั่วพู แตงกวา มะเขือเปราะ เป็นต้น สำหรับภาคกลาง จะใช้ผักต้ม เช่น ยอดแค ดอกแค ดอกขจร มะเขือพวง กระเจี๊ยบมอญ ผักบุ้ง หัวปลี มะระขี้นก หน่อไม้ ถั่วพู ดอกโสน ตำลึง เหล่านี้ต้มแล้วจะราดด้วยหัวกะทิ เพิ่มทั้งคุณค่าทางโภชนาการ เพราะผักเหล่านี้มีวิตามินเอ วิตามินเอเป็นวิตามินที่ละลายในไขมันร่ายกายสามารถนำไปใช้ได้ กะทิเพิ่มความอร่อยของผัก นอกจากนี้ก็จะใช้ผักผัดกับน้ำมัน เช่น ผักกระเฉด หรือดอกโสนและผักทอด เช่น มะเขือยาว ชะอมชุบไข่ทอด สำหรับผักสดนิยม เช่น แตงกวา มะเขือเปราะ ถั่วพู เป็นต้น

คุณค่าทางโภชนาการ

น้ำพริกทำให้กินผักได้มากขึ้น และกินผักได้อร่อย ในผักเฉพาะผักพื้นบ้านมีทั้งสรรพคุณทางยา เช่น ตำลึงมีอินซูลิน เหมาะสำหรับคนเป็นเบาหวาน และคุณค่าทางโภชนาการที่เห็นได้ชัดคือมีเส้นใยสูง เส้นใยทำให้ระบบขับถ่ายดี ช่วยกวาดกากไขมันและน้ำตาลในเลือด

ข้อเสนอแนะทำน้ำพริกให้อร่อย

1. เครื่องปรุงสดใหม่ ใช้เครื่องปรุงตามฤดูกาล (เช่น หน้ามะม่วงทำน้ำพริกมะม่วง หน้ามะขามทำน้ำพริกมะขาม)

2. มีสัดส่วน

3. ทำตามขั้นตอน ใส่ก่อนหลัง

4. สะอาด

อาจารย์ศรีสมร  คงพันธุ์

ผู้อำนวยการโรงเรียนการเรือนยิ่งเจริญ

COPYRIGHT (C) 2016 ALL RIGHT RESERVED